กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility: FCPF)

กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility: FCPF)

             กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ หรือต่อไปนี้เรียกว่า FCPF ได้เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2552 (ค.ศ. 2008) ถือเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกที่ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามกรอบงานเรดด์พลัส ( REDD+: Reducing Emission from deforestation and forest degradation and the role of conservation, sustainable management of forests and enhancement of forest carbon stocks in developing countries) หรือ การดำเนินการเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า การทำให้ป่าเสื่อมโทรม และเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา กองทุน FCPF จะสนับสนุนการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนหรือเขตกึ่งร้อน ในการพัฒนาศักยภาพของคน องค์กร สถาบัน นโยบาย กฎหมาย แผน มาตรการและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการตามกรอบงานเรดด์พลัส เพื่อเตรียมการเข้าสู่ระยะการจ่ายค่าตอบแทนเมื่อเกิด      ผลสัมฤทธิ์ โดยมีมาตรการสำคัญที่จะต้องจัดเตรียมคือ ยุทธศาสตร์เรดด์พลัสหรือแผนปฏิบัติการเรดด์พลัสของประเทศ ระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้/ระดับอ้างอิงภาคป่าไม้ ระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้/ระบบการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ และระบบข้อมูลระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงสร้างและการบริหารจัดการกองทุนฯ

              ธนาคารโลกเป็นองค์กรดูแลและจัดการกองทุนฯ ในส่วนของทุนเพื่อการเตรียมความพร้อม  ( Readiness Fund)  โดยมีคณะกรรมการกองทุน ( Participant Committee: PC) เป็นคณะกรรมการในการพิจารณาให้การสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆที่เสนอโครงการเพื่อขอรับทุนดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการกองทุนมีองค์ประกอบจากประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ จำนวน 14 คน และจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้สนับสนุนการเงินให้แก่กองทุนฯ จำนวน 14 คน รวมทั้งสิ้น 28 คน ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีผู้สังเกตการณ์ จำนวน 6 คนที่เป็นตัวแทนของชุมชนพื้นเมือง ชุมชนที่พึ่งพิงป่า องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และธนาคารโลก

  คณะกรรมการกองทุนฯ จะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง (ประมาณเดือนมีนาคม และ กันยายน/ตุลาคม ของทุกปี)  และมีการประชุมประเทศสมาชิกหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ปีละ 1 ครั้ง

แนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ

การขอรับการสนับสนุนงบประมาณของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ในระยะการเตรียมความพร้อมนั้น จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  • ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกจะต้องจัดทำกรอบแนวคิดในการดำเนินการ ที่เรียกว่าR-PIN ( Readiness Plan Idea Note) เสนอธนาคารโลก
  • ธนาคารโลกนำเสนอ R-PIN ให้แก่คณะกรรมการกองทุน (PC) พิจารณา หากเห็นชอบจะมีมติให้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐผ่านธนาคารโลก เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนานั้นจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส( Readiness Preparation Proposal: R-PP)
  • ธนาคารโลกจะมีการกำหนดแนวทางและแบบฟอร์มในการจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการจัดทำเอกสารดังกล่าว และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้ส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสไปยังธนาคารโลกเพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
  • ก่อนคณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาเอกสารข้อเสนอการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) ธนาคารโลกจะส่งข้อเสนอดังกล่าวให้ผู้เชี่ยวชาญที่มาจากประเทศพัฒนาแล้วที่ให้งบประมาณจำนวน 1 คนและประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 1 คน รวมถึงผู้แทนภาคประชาชน เพื่อพิจารณาให้ความคิดเห็น หากมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมประเทศเจ้าของโครงการฯ จะต้องพิจารณานำไปแก้ไขหรือหากไม่แก้ไขจะต้องมีการอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ธนาคารโลกจะนำเสนอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
  • การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) ในครั้งที่ 1 จะมีวงเงินกำหนดไว้ไม่เกิน 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากมีอการดำเนินการไประยะหนึ่งหรือมีการเบิกจ่ายและผูกพันงบประมาณได้ร้อยละ 50 ของงบประมาณที่ได้รับดังกล่าว และมีการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมได้อีกแต่ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เมื่อคณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบสนับสนุนเงินให้ความช่วยเหลือแล้ว ธนาคารโลกจะตั้ง Task Team Leader ของธนาคารโลกและทีมของธนาคารโลกมาประเมินความเสี่ยงของการดำเนินโครงการฯ และจัดเตรียมเอกสารข้อตกลงการรับทุนร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งในเอกสารประกอบการรับทุนจะมีการจัดทำกิจกรรมการดำเนินการภายใต้งบประมาณ 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามความต้องการของประเทศและการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก
  • ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับทุนจะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของแต่ละประเทศเพื่อลงนามในเอกสารข้อตกลงการรับทุนดังกล่าว