โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม

ความเป็นมา


กรอบการดำเนินงานด้านเรดด์พลัสเป็นแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า การทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงบทบาทของการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา
( Reducing Emission from deforestation and forest Degradation and the role of conservation, sustainable management of forest and enhancement of forest carbon stocks in developing countries) เป็นกรอบแนวทางภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการรักษาและจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของโลก เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมนั้น ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยภาคป่าไม้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 – 20 ของการปล่อยก๊าซฯ ในทุกภาคส่วน ดังนั้น หากสามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อลดอุณหภูมิโลก และภาคป่าไม้เป็นภาคที่มีความสำคัญในการเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของประเทศและของโลก ตลอดจนแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ปี พ.ศ.2559 – 2593 ได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และ 12 ด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายและแผนดังกล่าวข้างต้น รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งฐานทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นสินทรัพย์ในการพัฒนาประเทศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้จัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องบทบาทของป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมในการดำเนินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ด้วยการลดการไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม และช่วยในการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าด้วยการอนุรักษ์ป่าไม้ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ด้วยการปลูกเสริมต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรม ปลูกป่าในพื้นที่ ที่ถูกทำลายหรือพื้นที่ว่าง และปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2557 และเนื่องจากการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคนและการใช้ประโยชน์ที่ดินของป่าไม้ จะต้องใช้เวลาในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องขอสนับสนุนงบประมาณประจำปี เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสามารถขยายผลไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกแห่งของประเทศไทย