โครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย

โครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย

(Thailand’s REDD+ Readiness Preparation Proposal : R-PP)


 

งบประมาณสนับสนุน: กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility : FCPF)
Grant No :   TF 0A0984
วันที่ลงนามรับทุน : 17 มิถุนายน 2559
หน่วยงานที่ลงนามรับความช่วยเหลือ  สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
หน่วยงานดำเนินการ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินการ: 2559 – 2562 (2016 – 2019)  

ความเป็นมา

          ปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามเป็นสมาชิกของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility : FCPF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น นอร์เวย์ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกองทุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพเพื่อการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสหรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้แบบสมัครใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันในการประชุมรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 11 (ปี พ.ศ. 2548) สมัยที่ 13 (ปี พ.ศ. 2550) และสมัยที่ 14 (ปี พ.ศ. 2551) โดยในการประชุมฯ สมัยที่ 16 (ปี พ.ศ.2552) ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานด้านเรดด์พลัสไว้ 5 กรอบงาน ได้แก่ 1) การหยุดยั้งการทำลายป่า 2) การลดความเสื่อมโทรมของป่า 3) เพิ่มการอนุรักษ์ป่า 4) การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และ 5) เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า และได้กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส ประกอบด้วย

  • การจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงาน
  • การจัดทำระดับอ้างอิงหรือระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้
  • การจัดทำระบบการตรวจวัด การรายงาน และการพิสูจน์ยืนยัน รวมถึงระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นมาตรฐาน
  • ระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ( Safeguards)

และกำหนดให้การดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสมี 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ 2) ระยะการทดลองนำร่อง 3) ระยะการดำเนินการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ และในการประชุมสมัยต่อมามีการพัฒนามาตรการ รูปแบบ และกระบวนการเพื่อเป็นแนวทางและใช้ประกอบการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ แสดงถึงความโปร่งใสให้ประเทศพัฒนาแล้วในการสนับสนุนทางการเงิน หรือการเกิดคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ

  1. เพื่อเสริมศักยภาพและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสของประเทศไทย
  2. เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบการดำเนินการของประเทศไทย
  3.  เพื่อพัฒนาระดับการอ้างอิง/ระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้ และระบบการตรวจติดตาม การรายงานและการพิสูจน์ยืนยัน ความสำเร็จของการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส
  4. เพื่อพัฒนาระบบการปกป้องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส