ประเทศไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานหลักของกิจกรรมเรดด์พลัสหรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ และประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นสมาชิกกองทุน FCPF เมื่อปี พ.ศ. 2552 จึงได้จัดทำบันทึกแนวคิด แผนการเตรียมความพร้อมของกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Plan Idea Notes : R-PIN ) เสนอกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 200,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส หรือการดำเนินการในระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อมในการดำเนินกลไกเรดด์พลัสของประทศในประเด็นของการเตรียมคน การเตรียมโครงสร้างองค์กร การจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติ การจัดทำระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ระบบการตรวจติดตามทรัพยากรป่าไม้ การจัดทำระดับการปล่อยอ้างอิง/ระดับอ้างอิงภาคป่าไม้ และมาตรการอื่นๆที่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อตัดสินใจของการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คณะกรรมการบริหารกองทุน FCPF (ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอย่างละเท่ากัน ) ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณจำนวนดังกล่าวให้ประเทศไทยดำเนินการผ่านทางธนาคารโลกซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทุนให้ ธนาคารโลกได้ว่าจ้างที่ปรึกษาในประเทศ(คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศในการดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ซึ่งกระบวนการในการดำเนินการเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ที่ปรึกษาได้ใช้การทบทวนและวิเคราะห์นโยบาย แผนพัฒนา กฎหมาย ระเบียบและโครงสร้างของการดำเนินการด้านป่าไม้ของประเทศไทย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ ทั้งในรูปแบบของการประชุมกลุ่มย่อย การประชุมการฟังความคิดเห็นภาพรวม และได้นำประเด็นต่างๆที่ได้มาจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสที่ประกอบด้วยกิจกรรมและงบประมาณในการดำเนินการในวงเงิน 21.7 ล้านเหรียญ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2558 -2561) (เอกสารข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำเสนอให้คณะทำงานเฉพาะกิจเรดด์พลัสและคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านวิชาการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ และเมื่อปรับแก้ไขตามความเห็นแล้ว ได้นำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับทราบการดำเนินการในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 และจัดส่งให้กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้พิจารณา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน FCPF สมัยการประชุมที่ 14 ในเดือนมีนาคม 2556 ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ประเทศไทยในการดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อม (R –PP) โดยให้มีการจัดประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ความเห็นที่ตกหล่น ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดประชุมหารือใหม่ในแต่ละภาคและส่วนกลางจำนวน 5 ครั้ง และนำความเห็นในส่วนที่ขาดมาเพิ่มในข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสดังกล่าว ต่อมาธนาคารโลกได้มีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2557 แจ้งการเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ต่อข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฉบับแก้ไข (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556) และจะประสานในการจัดทำรายละเอียดประกอบการรับทุนต่อไป และเอกสารฉบับนี้ได้เผยแพร่ไว้ในเว๊ปไซด์ของธนาคารโลกและเว๊ปไซด์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (http//reddplus.dnp.go.th)
ในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2558 ธนาคารโลกได้ดำเนินการประเมินความเป็นไปได้หรือความเสี่ยงของประเทศไทยในการดำเนินโครงการดังกล่าว และได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการจัดทำแผนการดำเนินการและแผนการจัดซื้อจัดหา การจัดทำข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษาในการดำเนินการ การให้ความรู้ในเรื่องระบบการเงินและการเบิกจ่ายของธนาคารโลก และการจัดทำรายละเอียดเพื่อประกอบการลงนามในสัญญารับทุน ธนาคารโลกได้มีหนังสือที่ 447/2015 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ถึงสำนักบริหารหนี้สาธารณะแจ้งการอนุมัติการให้ทุนให้แก่ประเทศไทยในการดำเนินกิจกรรมเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Preparation Activities) และประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังได้ลงนามรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 และเป็นการเริ่มการดำเนินโครงการของประเทศไทย