แหล่งงบประมาณ

แหล่งงบประมาณ


1) กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility : FCPF)

กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ หรือต่อไปนี้เรียกว่า FCPF ได้เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2552 (ค.ศ. 2008) ถือเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกที่ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามกรอบงานเรดด์พลัส ( REDD+: Reducing Emission from deforestation and forest degradation and the role of conservation, sustainable management of forests and enhancement of forest carbon stocks in developing countries) หรือ การดำเนินการเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า การทำให้ป่าเสื่อมโทรม และเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา กองทุน FCPF จะสนับสนุนการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนหรือเขตกึ่งร้อน ในการพัฒนาศักยภาพของคน องค์กร สถาบัน นโยบาย กฎหมาย แผน มาตรการและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการตามกรอบงานเรดด์พลัส เพื่อเตรียมการเข้าสู่ระยะการจ่ายค่าตอบแทนเมื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมีมาตรการสำคัญที่จะต้องจัดเตรียมคือ ยุทธศาสตร์เรดด์พลัสหรือแผนปฏิบัติการเรดด์พลัสของประเทศ ระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้/ระดับอ้างอิงภาคป่าไม้ ระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้/ระบบการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ และระบบข้อมูลระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 โครงสร้างและการบริหารจัดการกองทุนฯ

ธนาคารโลกเป็นองค์กรดูแลและจัดการกองทุนฯ ในส่วนของทุนเพื่อการเตรียมความพร้อม ( Readiness Fund)  โดยมีคณะกรรมการกองทุน ( Participant Committee: PC) เป็นคณะกรรมการในการพิจารณาให้การสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆที่เสนอโครงการเพื่อขอรับทุนดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการกองทุนมีองค์ประกอบจากประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ จำนวน 14 คน และจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้สนับสนุนการเงินให้แก่กองทุนฯ จำนวน 14 คน รวมทั้งสิ้น 28 คน ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีผู้สังเกตการณ์ จำนวน 6 คนที่เป็นตัวแทนของชุมชนพื้นเมือง ชุมชนที่พึ่งพิงป่า องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และธนาคารโลก

คณะกรรมการกองทุนฯ จะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง (ประมาณเดือนมีนาคม และ กันยายน/ตุลาคม ของทุกปี)  และมีการประชุมประเทศสมาชิกหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ปีละ 1 ครั้ง

 สมาชิก

กองทุน FCPF มีประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วจำนวน 47 ประเทศ แบ่งเป็น ประเทศจากทวีปอัฟริกาจำนวน 18 ประเทศ ประเทศละตินอเมริกาและแคริเบียนจำนวน 18 ประเทศ ประเทศจากทวีปเอเชียและแปซิฟิคจำนวน 11 ประเทศ (อาเจนติน่า เบลิส โบลิเวีย ภูฏาน เบอร์กินาฟาโซ่ กัมพูชา แคเมรูน สาธารณรัฐอัฟริกากลาง ชิลี โคลัมเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐคองโก คอสตาริกา โคเต้ ไอวอรี่(Cote d Ivoire) สาธารณรัฐโดมินิกัน เอลซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย ฟิจิ กาบอน กานา กายานา อินโดนีเซีย เคนยา ลาว ไลบีเรีย กัวเตมาลา ฮอนดูรัส มาดากัสการ์ เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล นิการากัว ไนจีเรีย ปากีสถาน ปานามา ปาปัวนิวกินี ปารากวัย เปรู ซูดาน ซูรินาม แทนซาเนีย ไทย โตโก อูกันดา อุรุกวัย วานาตู เวียดนาม)

 แหล่งเงินทุนของ FCPF

แหล่งสนับสนุนเงิน FCPF ในระยะแรกมาจาก 16 แหล่ง ได้แก่ Agency Francaise de Development (AFD), Australia, British Petroleum, Canada, CDC Climate, Denmark, the European Union, Finland, Germany, Italy, Japan, The Nature Conservancy, the Netherlands, Norway, Spain, Switzerland, the United Kingdom and the United States ได้สนับสนุนเงินจำนวน 345 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ให้แก่กองทุน โดยแบ่งออกเป็น ทุนเพื่อการเตรียมความพร้อม ( Readiness Fund ) จำนวน 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และทุนเพื่อคาร์บอน ( Carbon Fund) จำนวน 145 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

แนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ

การขอรับการสนับสนุนงบประมาณของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ในระยะการเตรียมความพร้อมนั้นจะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกจะต้องจัดทำกรอบแนวคิดในการดำเนินการ ที่เรียกว่า R-PIN ( Readiness Plan Idea Note) เสนอธนาคารโลก
  2. ธนาคารโลกนำเสนอ R-PIN ให้แก่คณะกรรมการกองทุน (PC) พิจารณา หากเห็นชอบจะมีมติให้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐผ่านธนาคารโลก เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนานั้นจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Preparation Proposal: R-PP)
  3. ธนาคารโลกจะมีการกำหนดแนวทางและแบบฟอร์มในการจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการจัดทำเอกสารดังกล่าว และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้ส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสไปยังธนาคารโลกเพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
  4. ก่อนคณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาเอกสารข้อเสนอการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) ธนาคารโลกจะส่งข้อเสนอดังกล่าวให้ผู้เชี่ยวชาญที่มาจากประเทศพัฒนาแล้วที่ให้งบประมาณจำนวน 1 คนและประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 1 คน รวมถึงผู้แทนภาคประชาชน เพื่อพิจารณาให้ความคิดเห็น หากมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมประเทศเจ้าของโครงการฯ จะต้องพิจารณานำไปแก้ไขหรือหากไม่แก้ไขจะต้องมีการอธิบายเหตุผลเพิ่มเติม และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ธนาคารโลกจะนำเสนอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
  5. การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) ในครั้งที่ 1 จะมีวงเงินกำหนดไว้ไม่เกิน 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากมีการดำเนินการไประยะหนึ่งหรือมีการเบิกจ่ายและผูกพันงบประมาณได้ร้อยละ 50 ของงบประมาณที่ได้รับดังกล่าว และมีการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมได้อีกแต่ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  6. เมื่อคณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบสนับสนุนเงินให้ความช่วยเหลือแล้ว ธนาคารโลกจะตั้ง Task Team Leader ของธนาคารโลกและทีมของธนาคารโลกมาประเมินความเสี่ยงของการดำเนินโครงการฯ และจัดเตรียมเอกสารข้อตกลงการรับทุนร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งในเอกสารประกอบการรับทุนจะมีการจัดทำกิจกรรมการดำเนินการภายใต้งบประมาณ 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามความต้องการของประเทศและการแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก
  7. ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับทุนจะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของแต่ละประเทศเพื่อลงนามในเอกสารข้อตกลงการรับทุนดังกล่าว