ศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ ระดับพื้นที่ (จังหวัดเลย)

เบอร์โทรติดต่อ

หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ ระดับพื้นที่ (จังหวัดเลย)

นายเสกสรร จันทรเนตร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สบอ.8 (ขอนแก่น)

เบอร์โทรติดต่อ : 086-8554988

ประวัติความเป็นมา

……………กลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการอนุรักษ์คาร์บอนในพื้นที่ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า ในประเทศกำลังพัฒนา (Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in developing countries, and the Role of
Conservation, Sustainable Management of Forests, and Enhancement of Forest Carbon Stocks in Developing Country) หรือที่เรียกโดยย่อว่า เรดด์พลัส (REDD+) เป็นกลไกที่ได้รับการเสนอภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแนวคิดหลักของเรดด์พลัส คือ การสร้างแรงจูงใจให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการรักษาป่าไม้ ไว้สำหรับเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม นั้น ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 หากสามารถรักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ได้จะช่วยชะลอและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีสาเหตุหลายประการ เช่น การขยายพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขยายเมือง เป็นต้น ที่ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้นั้น ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมตามแนวทางของกลไกเรดด์พลัส เพื่อผลักดันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมจะประสบความสำเร็จได้ทุกคนและทุกประเทศจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการลดการตัดไม้ทำลายป่า การเพิ่มพื้นที่ป่าหรือต้นไม้เพื่อการกักเก็บคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังอยู่ในแวดวงค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อม และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกเรดด์พลัสให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้มีความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และกลไกเรดด์พลัสประสบความสำเร็จ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ได้ดำเนินการคัดเลือกชุมชน บ้านไฮตาก หมู่ที่ 2 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเรือ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบในเรื่องการดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานของเรดด์พลัส กล่าวคือ การลดการทำลายป่า การลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรม การอนุรักษ์ป่าไม้ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า การใช้แนวคิดเรดด์พลัส มาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( Sustainable Development goals SPGs ) โดยการพัฒนาต้องตระหนักถึงองค์ประกอบ 3 ด้าน ซึ่งต้องดำเนินไปด้วยกัน ได้แก่ ด้านระบบนิเวศ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานตามกรอบแนวคิดดังกล่าวข้างต้น ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้วางไว้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านป่าไม้ในพื้นที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานประสานงานกับชุมชน และดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนควบคู่ไปกับแผนงานของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  อีกทั้ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ที่ตั้งและอาณาเขต

บริเวณพิกัดที่ WGS 1984 Zone 47 Q UTM 743878E 1935246N (ภูมะเฟืองและห้วยกวก) ท้องที่บ้านไฮตาก หมู่ที่ 2 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

ขนาดพื้นที่ : เนื้อที่ประมาณ 145 ไร่

ที่ตั้ง : อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเรือ

ลักษณะโดยทั่วไป : พื้นที่เป็นเนินเขาโล่งเตียน มีวัชพืชขึ้นปกคลุม เคยผ่านการทำลายป่ามาก่อนและเคยเป็นที่ดินทำกินของชุมชนมาก่อน ปัจจุบันไม่มีการใช้สอยและทำประโยชน์ และพื้นที่บางส่วนมีสภาพป่า เป็นชนิดป่าดิบแล้ง และผสมป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก   ไม้ขนาดใหญ่ที่พบ ได้แก่ ตะแบก มะค่าโมง ประดู่ ปอชนิดต่างๆ นอกจากนี้เป็นไม้เกิดขึ้นใหม่และไม้รุ่นสอง ไม่มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ มีสัตว์ป่าจำพวกนก ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก
ลักษณะเฉพาะ: อยู่ติดกับที่ดินทำกินของชุมชน และอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของชุมชน เส้นทางเป็นถนนลำลองดินเดิม และลูกรังเข้าถึง มีสภาพชำรุดสามารถซ่อมแซมผิวหน้าถนนใช้งานได้ มีสัญญาณโทรศัพท์ อยู่ติดแหล่งน้ำ คือ สระน้ำซำตอง และอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ชื่อ ลำห้วยกวก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติ และพื้นที่ทางตอนบนมีฝายกักเก็บน้ำ โดยในปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดใช้ประโยชน์ในทางราชการ จึงเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศป่าไม้ ระดับพื้นที่ (จังหวัดเลย) และดำเนินการโครงการ

อัตรากำลังเจ้าหน้าที่

ตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ที่ 802 /2563 ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ระดับงาน จำนวน (คน)
1. ข้าราชการ 3
2. ลูกจ้างประจำ
3. พนักงานราชการ
4. พนักงานจ้างเหมาบริการ (TOR) 7
รวม 10

ข้อมูลด้านเครือข่ายชุมชนภายใต้การดำเนินงานที่ผ่านมา จำนวนหมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน

1.บ้านห้วยผักเน่า                หมู่ที่ 1 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

2.บ้านไฮตาก                     หมู่ที่ 2 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

3.บ้านโคกหางวัง              หมู่ที่ 3 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

4.บ้านลาดค่าง                   หมู่ที่ 4 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

5.บ้านแก่งเกลี้ยง               หมู่ที่ 6 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

6.บ้านห้วยติ้ว                     หมู่ที่ 5 ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

7.กลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ทในพื้นที่

8.หน่วยงานราชการตามการปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

แผนที่ศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ ระดับพื้นที่ (จังหวัดเลย)

ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

กิจกรรมที่มีการสนับสนุนและเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ขับเคลื่อนฯ กับพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดังนี้

1.ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูเรือ ประชาสัมพันธ์โครงการปลูกป่าจิตอาสาตามพระราชเสาวนีย์ เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ราย

2.ร่วมกันจุดสกัดอุทยานแห่งชาติภูเรือซึ่งอยู่ในพื้นที่และเส้นทางเดียวกัน เพื่อช่วยดูแลและประชาสัมพันธ์และป้องกันการกระทำผิด พรบ.อุทยานแห่งชาติ

3.ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเรือในการจัดฝึกอบรม และร่วมกิจกรรมต่างๆ

 

1. การปรับปรุงพัฒนาศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ ระดับพื้นที่ (จังหวัดเลย)

 

2. การจัดทำแปลงเพาะชำกล้าไม้ เพื่อการดำเนินการเพาะชำ บำรุงรักษา และแจกจ่ายกล้าไม้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการและหน่วยงานต่างๆ

 

3. ปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ ตรวจติดตามผลการปลูกต้นไม้ บริเวณศูนย์ขับเคลื่อนฯ และผู้เข้าร่วมโครงการ