เข้าร่วมโครงการ : ปี พ.ศ. 2557
หน่วยงานรับผิดชอบ : ดำเนินการโดยกลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ส่วนสิ่งแวดล้อมป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
ข้อมูลพื้นฐานบ้านนาหว้า
บ้านนาหว้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากลำนำโขงไม่มากนัก บ้านนาหว้าขึ้นกับตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชุมชนเก่าดั้งเดิม ที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่อดีต และต่อมามีกลุ่มคนชาติพันธ์ุไทย-ลาว ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน อาชีพของคนบ้านนาหว้าทำการเกษตรเป็นหลัก อดีตบ้านนาหว้าเป็นชุมชนที่มีฐานะยากจน อยู่ห่างไกลความเจริญ การเดินทางไม่สะดวกต้องใช้การเดินเท้าหรือใช้เรือล่องไปตามลำน้ำโขงเพื่อเดินทางมายังจังหวัด หรือหากจะขนผลผลิตไปขายต้องใช้ยานพาหนะ คือ เกวียน แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ ที่มีอยู่มากมายและอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้คนในชุมชนมีพื้นที่ทำกินมากขึ้น และเมื่อพืชเกษตรมีราคาสูงขึ้น ทำให้ฐานะของคนชุมชนดีขึ้นกว่าอดีต
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
สภาพพื้นที่ของบ้านนาหว้า บริเวณทิศใต้ของบ้านนาหว้า เป็นเทือกเขาตอนปลายของเทือกเขาภูพานที่พาดผ่านภาคอีสาน ลักษณะเป็นภูเขาหินทราย บริเวณนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูดหล่นและพื้นที่ป่าที่เรียกกันว่าป่าชุมชนภูหินเหล็กไฟ พื้นที่ด้านทิศใต้เป็นป่าผืนใหญ่เป็นแนวเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติผาแต้มด้านทิศเหนือ และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ที่อยู่ในเขตอำเภอศรีเมืองใหม่ สภาพพื้นที่จะลาดลงมาทางด้านทิศเหนือ สายน้ำจากเทือกเขาด้านบนจะไหลลงสู่ ลำห้วยตาหวัง และไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยตรง สภาพพื้นที่จึงมีลักษณะเป็นลอนคลื่นมีพื้นที่ราบลุ่มในส่วนที่ติดกับลำห้วย การใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่เป็นที่ราบติดลำห้วย ชาวบ้านนาหว้าจะทำนาปลูกข้าวไว้เพื่อบริโภค บริเวณที่เป็นโนนหรือโคก ชาวบ้านจะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปอ และยางพารา
การใช้ประโยชน์ที่ดินของบ้านนาหว้า
พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน | 9,508 ไร่ |
พื้นที่อยู่อาศัย | 822 ไร่ |
พื้นที่ทำการเกษตร | |
|
3,852 ไร่ |
|
2,358 ไร่ |
พื้นที่ป่าชุมชน | 2,365 ไร่ |
พื้นที่บ่อน้ำ สระน้ำ | 16 ไร่ |
พื้นที่อื่นๆ | 95 ไร่ |
โครงสร้างและประชากร
จากข้อมูล กชช 2 ค ของหมู่บ้าน บ้านนาหว้ามีจำนวนครัวเรือน 221 ครัวเรือ มีประชากร 1,027 คน หญิง 522 คน ชาย 505 คน ประชากรประกอบไปด้วยคนไทยเชื้อสายไทย บลู หรือกูย เป็นคนพื้นถิ่นดั้งเดิม และไทย-ลาว ที่อพยพเข้ามาใหม่ เราจะจำแนกชาติพันธุ์ได้ด้วยการฟังสำเนียงของชุมชนที่พูดออกมา อัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ ข้อมูลในปี พ.ศ.2554 มีอัตราการเกิด 1.46% มีระบบไฟฟ้า มีระบบประปาจากบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำตลอดปี มีวัด 1 แห่ง ชื่อวัดดอยมณี โรงเรียนชั้นประถมศึกษา 1 แห่ง สอนตั้งแต่ ป.1-ป.6 มีถนนลาดยาวสามารถเดินทางไปติดต่อกับอำเภอโพธิ์ไทรและจังหวัดอุบลราชธานีได้สะดวก มีรถโดยสารที่เดินทางจากบ้านนาหว้ามายังตัวจังหวัดอุบลราชธานี วันละ 1 เที่ยว ปัจจุบันชุมชนค่อนข้างมีฐานะดี หลายบ้านมีรถยนต์ส่วนตัวใช้ ในการเดินทางไปมาหาสู่กัน