บ้านหม่องกั๊วะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Slider_Widget”][/siteorigin_widget]

เข้าร่วมโครงการ : ปี พ.ศ. 2557

หน่วยงานรับผิดชอบ : ดำเนินการโดยกลุ่มงานวิชาการ สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก)

ส่วนสิ่งแวดล้อมป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

กลุ่มบ้านหม่องกั๊วะ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ประกอบด้วย 4 กลุ่มบ้าน  ดังนี้

บ้านหม่องกั๊วะ

ประวัติ

เดิมชื่อ บ้านหม่องกั๊วะ แปลว่า ผาสองยอด เนื่องจากบริเวณทางทิศใต้ของที่ตั้งชุมชนมีภูเขาหินปูนที่มียอดผาหิน 2 ยอด เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าชุมชนตั้งมานานกว่า 100 ปี (สังเกตได้จากต้นมะพร้าว)

ประชากร

หม่องกั๊วะเป็นชุมชนที่มีประชากรใหญ่ที่สุดจาก 14 ชุมชน ตั้งแต่บ้านกุยเลอตอ – บ้านแม่จันทะ  มีประชากร 80 ครอบครัว ประมาณ 417 คน ( ข้อมูลปี 2557 ) ในปัจจุบันชุมชนบางส่วนได้ร่วมกันทำธนาคารข้าว และธนาคารเกลือ ของชุมชนลุ่มน้ำแม่จันตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนี้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายต้นทะเล (อนุรักษ์วิถีกะเหรี่ยงกับป่าต้นน้ำ) ของลุ่มน้ำแม่กลองตั้งอยู่ด้วย

สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ประกอบด้วย 2 เผ่าย่อย คือ กะเหรี่ยงน้ำหรือโปหรือโผล่ว และกะเหรี่ยงดอยหรือปาเกอญอ จำแนกเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธลัทธิฤาษี และกลุ่มนับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านทั้ง 2 กลุ่ม จะแยกกันอยู่อย่างชัดเจน แต่ไม่มีปัญหาต่อกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยกลุ่มนับถือฤาษีจะไม่กินสัตว์เลี้ยง และไม่เลี้ยงสัตว์ ยกเว้น ปลา วัว และควาย กลุ่มนับถือพุทธมีสำนักสงฆ์หม่องกั๊วะ (ร่วมอยู่โครงการพุทธอุทยาน) เป็นศูนย์กลาง และมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหม่องกั๊วะ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 (ค่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกบ้านใช้ประปาภูเขาหมู่บ้าน และบางครอบครัวจะมีระบบผลิตไฟฟ้าแบบโซล่าเซลล์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลบางยุค และบางครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดีจะใช้ระบบไฟฟ้าพลังน้ำ

อาชีพและการจัดการที่ดินในชุมชน 

ที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างแบบชั่วคราวและแบบถาวร เป็นทั้งเรือนไม้ไผ่ และใช้ไม้จริงทั้งหลัง มุงด้วยสังกะสี, กระเบื้อง, ใบหวาย(หวายต้น),ลำไผ่ และไม้แป้นเกล็ด มีถนนลำลองป่าไม้ (สายบ้านกุยเลอตอ-แม่จันทะ) เป้นเส้นทางหลักตัดผ่านหมู่บ้าน โดยแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1288 (บ้านเชอทะ-เปิ่งเคลิ่ง) มีสะพานคอนกรีต 1 แห่ง และสะพานไม้ 1 แห่ง ใช้สัญจรไปมาระหว่างบ้านมอทะ อาชีพหลักทำการเกษตร ได้แก่ ทำไร่หมุนเวียน, ทำนาปี,ปลูกพริก,ปลูกงา,ปลูกแตง ฟัก ภายในไร่หมุนเวียนผสมกับข้าวไร่ ทำสวนหมาก และปลูกผลไม้และผักสวนครัวไว้กินเอง ในอีดตเคยปลูกกระวานและเร่ว(มะอิ) ขาย ภายหลังเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ห้ามปลูก เพราะถือเป็นของป่าที่ผิดกฎหมาย ในปัจจุบัน มีการจัดการที่ดินทำการเกษตรและที่ดินป่าไม้ มีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน ห้ามทำไร่บริเวณต้นน้ำอย่างเด็ดขาด และห้ามแผ้วถางรุ่นสองที่อายุมาก(ป่าแก่) และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดการในรูปของป่าหมู่บ้าน ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (JoMPA) ในปัจจุบัน มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนบ้านหม่องกั๊วะร่วมกับบ้านมอทะและไกวบอทะประมาณ 27,473 ไร่ (เนื่องจากชุมชนอยู่ใกล้กัน)

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Headline_Widget”][/siteorigin_widget]

บ้านไกวบอทะ

ประวัติ

บ้านไกวบอทะหรือแกหว่อทะ เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า สบห้วยทองหลาง เดิมชาวบ้านไกวบอทะเคยอยู่ร่วมกับหมู่บ้านหม่องกั๊วะ แต่เนื่องจากประเพณีและวัฒนธรรมที่ต่างกัน จึงทำให้แยกออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ ห่างจากบ้านหม่องกั๊วะไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กม.

ประชากร

ในปัจจุบัน มีจำนวน 35 ครอบครัว ประชากรประมาณ 199 คน

สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงน้ำหรือโปหรือโผล่ว นับถือศาสนาพุทธลัทธิฤาษี ไม่กินสัตว์เลี้ยง แต่กิน วัว ควาย สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ เช่น ปลา กบ เต่า ตะพาบ เป็นต้น ทุกวันพระจะมีการทำบุญที่ศาลาที่สร้างไว้ในการทำพิธีต่างๆ จะมีผู้นำฤาษีหรือเจ้าวัดนุ่งขาวห่มขาวเป็นผู้นำในการทำพิธีต่างๆ ทุกบ้านใช้ประปาภูเขาหมู่บ้าน และบางครอบครัวจะมีระบบผลิตไฟฟ้าแบบโซล่าเซลล์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลบางยุค

อาชีพและการจัดการที่ดินในชุมชน

บ้านเรือนประกอบด้วยทั้งแบบชั่วคราวและถาวร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบชั่วคราว ทำด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบหวาย (หวายต้น) สังกะสี และไม้แป้นเกล็ด บ้านเรือนส่วนใหญ่จะมีเรือนทำผีอยู่ครอบครัวละ 1 หลัง เป็นการปลูกสร้างตามคติความเชื่อในประเพณีที่สืบทอดกันมา ไม่มีโรงเรียน มีสะพานไม้ 1 แห่ง ใช้ข้ามห้วยหม่องกั๊วะ มีศาลาฤาษี 1 แห่ง มีพื้นที่เกษตรกรรมแบบร่วมกันทำ ในรูปของไร่ข้าวหมุนเวียน และการทำนา ปลูกพริกในไร่ข้าว ส่วนในหมู่บ้านมีการปลูกไม้ผล ในอดีตชาวบ้านมีรายได้จากการบริหารจัดการและปลูกเร่ว (มะอิ) และกระวาน ต่อมาเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางไม่อนุญาต เนื่องจากเข้าไปปลูกในป่าดงดิบตามหุบเขา และในหมู่บ้านเป็นต้นน้ำสายสำคัญของห้วยหม่องกั๊วะ มีน้ำตกอยู่ 1 แห่ง มีน้ำสะอาด และมีน้ำจากขุนห้วยทีชอแมคี โดยชาวบ้านแกวอทะช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดการในรูปของป่าหมู่บ้าน ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (JoMPA) ส่วนพื้นที่ใช้ประโยชน์ในชุมชนบ้านไกวบอทะ ใช้ร่วมกับบ้านมอทะและบ้านหม่องกั๊วะ

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Headline_Widget”][/siteorigin_widget]

บ้านมอทะ

ประวัติ

มอทะ แปลว่า สบห้วยโป่ง เมื่อประมาณ พ.ศ.2523 มีชาวกะเหรี่ยงอยู่ 4 ครอบครัว ได้อพยพออกมาจากหมู่บ้านหม่องกั๊วะ เนื่องจากคนในชุมชนนับถือฤาษี ไม่ต้องการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เนื่องจากมีความแตกต่างกันด้านประเพณี  แล้วจึงเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านหม่องกั๊วะ ซึ่งเป็นบริเวณโป่งน้ำซับ ต่อมาจึงได้กลายเป็นหมู่บ้าน และห่างจากบ้านหม่องกั๊วะไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กม.

ประชากร

มีจำนวน 66 ครัวเรือน ประชากร 364 คน

สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

เป็นชาวกะเหรี่ยง (ปาเกอญอ ) นับถือศาสนาพุทธลัทธิฤาษี อยู่ร่วมกันอย่างสงบ มีงานประเพณีในหมู่บ้าน เช่น การต่ออายุชุมชนซึ่งคล้ายๆ กันกับอีกหลายหมู่บ้านที่เป็นชุมชนกะเหรี่ยง แต่ที่บ้านมอทะจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีหลัก ที่หลายๆหมู่บ้านจะมาร่วมกัน วิธีการ คือ ผู้การมาร่วมงานจะตัดไม้ไผ่ที่สูงกว่าหัวคนละต้น นำไปปักรวมกันไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ประจำหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกบ้านใช้ประปาภูเขาหมู่บ้าน และบางครอบครัวจะมีระบบผลิตไฟฟ้าแบบโซล่าเซลล์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลบางยุค

อาชีพและการจัดการที่ดินในชุมชน

บ้านเรือนส่วนใหญ่ปลุกสร้างแบบชั่วคราว เช่น เป็นบ้านไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบหวาย (หวายต้น) หรือไม้ไผ่ผ่าครึ่ง  เส้นทางคมนาคมใช้ถนนเส้นเดียวกับบ้านหม่องกั๊วะ มีสะพานไม้ 1 แห่ง ใช้สำหรับข้ามห้วยทีเปอะ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม มีการทำไร่ข้าวหมุนเวียน ทำนา ปลูกพริกในไร่ข้าว ในพื้นที่บ้านจะปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค พื้นที่บริเวณรอบหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และสมุนไพรที่ชุมชนได้ประโยชน์ ส่วนบริเวณป่าต้นน้ำชุมชนจะช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลป้องกันไฟป่า โดยมีคณะกรรมการดูแลไฟป่าประจำหมู่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดการป่ารอบชุมชนในรูปของป่าหมู่บ้านภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (JoMPA) ส่วนพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนบ้านมอทะ ได้ใช้ร่วมกับบ้านไกวบอทะและบ้านหม่องกั๊วะ

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Headline_Widget”][/siteorigin_widget]

บ้านพอกะทะ

ประวัติ

บ้านพอกะทะ เดิมมีชื่อว่า บ้านกุยโจเก เดิมตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ห้วยพอตะก๊ะโกร (ห้วยดอกมะลิ) แต่เนื่องจากในฤดูฝนเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ จึงย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน จึงมีอายุหมู่บ้านประมาณ 50 ปี เท่านั้น ห่างจากบ้านหม่องกั๊วะไปทางทิศเหนือประมาณ 6 กม.

ประชากร

ในปัจจุบัน มีจำนวน 75 ครอบครัว ประชากรประมาณ 368 คน

สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม

เป็นชาวกะเหรี่ยงดอย (ปาเกอญอ) ในสังคมหมู่บ้านอยู่กันอย่างเรียบง่าย มีความสุข ในการทำงานชาวบ้านมีความสามัคคีกันดี ประเพณีวัฒนธรรมคล้ายกับบ้านหม่องกั๊วะ และมอทะ เพราะอยู่ในกลุ่มบ้านของหม่องกั๊วะ

อาชีพและการจัดการที่ดินในชุมชน

บ้านเรือนประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ส่วนใหญ่เป็นชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบหวาย (หวายต้น) เรือนไม้จริงมุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง ทุกบ้านใช้ประปาภูเขาหมู่บ้าน และบางครอบครัวจะมีระบบผลิตไฟฟ้าแบบโซล่าเซลล์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลบางยุค มีสุขาเกือบทุกหลังคาเรือน มีศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีสะพานไม้ใช้สำหรับข้ามห้วยพอกะทะ แต่ในปัจจุบัน สะพานอยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้การได้ มีสุขศาลา 1 แห่ง ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม มีการทำนา ปลูกข้าวไร่ ปลูกพริกในไร่ข้าว ในหมู่บ้านมีการปลูกหมาก ปลูกมะพร้าว ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ วัว และควาย ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาป่า โดยเฉพาะบริเวณป่าต้นน้ำและไดร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดการป่ารอบชุมชนในรูปของป่าหมู่บ้าน ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างที่ส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (JoMPA) ใช้ประโยชน์จากป่าที่ดูแล เช่น เก็บเห็ด หาฟืน และอื่นๆ

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Headline_Widget”][/siteorigin_widget]

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *